พระราชดำริ


จุดเริ่มต้นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
โรงพยาบาลเพื่อปวงชน

“ ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้น จากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดีให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงสมอหน้ากัน ”


จุดเริ่มต้นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชโรงพยาบาลเพื่อปวงชน

“ ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้น จากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดีให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงสมอหน้ากัน ”

พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2529

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรชายา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2520 คณะรัฐมนตรีได้มีดำริที่จะจัดของขวัญขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีของรัฐบาลร่วมกับบรรดาพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล และได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2519 ให้จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญ ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งชื่อว่า “คณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช”โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการวางโครงการจัดหาทุนในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ปรากฎว่าได้มีประชาชน ผู้จงรักภักดีจากทั่วประเทศพร้อมใจกันบริจาคเงิน ทรัพย์สิน และที่ดิน สมทบทุนเป็นจำนวนมาก ในการที่จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์และสนับสนุนให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ที่ได้จัดสร้างขึ้นสามารถบริการประชาชน ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ได้ด้วยดีตลอดไป สมควรที่จะได้นำทรัพย์สินที่ประชาชนร่วมกันบริจาคจัดตั้งเป็นมูลนิธิฯ ขึ้น จึงได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2520 เรียกชื่อว่า “มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมูลนิธิ ในการดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จำนวน 20 แห่ง ใน 20 จังหวัด โดยสร้างขึ้นในครั้งแรกเป็นโรงพยาบาล

ขนาด 30 เตียง ในการก่อสร้างครั้งแรกใช้เงินของ “มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ทั้ง 20 แห่ง เป็นเงิน 164,462,515 บาท และได้จัดสร้างเพิ่มอีก 1 แห่งรวมเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยสนับสนุนทางด้านวัตถุ กำลังเจ้าหน้าที่ และวัสดุครุภัณฑ์ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในทางการแพทย์ เป็นจำนวนเงิน 11,348,947 บาท เพื่อให้บริการแก่ประชาชนด้วยดีตลอดมา ปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งได้เปิดให้บริการแก่ประชาชน ทหาร ตำรวจ และพลเรือนได้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน สมทบค่าก่อสร้างในการขยายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นและได้มีการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ขึ้นเป็นลำดับต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์และเปิดของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองทั้ง 21 แห่ง

นอกจากนี้ ยังทรงใฝ่พระทัยติดตามกิจการและผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอย่างสม่ำเสมอ ในปี 2529 พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 4 ภาค ภาคละ 1 แห่ง เพื่อทรงศึกษาปัญหาและหาแนวทางพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชให้มีประสิทธิภาพสามารถบริการให้เป็นที่ศรัทธาของประชาชน ในปี 2530 พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งและได้ทรงพระราชทานพระราโชบาย 12 ประการแก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชต่อไป

พระราโชบายเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

  1. พระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จฯ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในทั้ง 4 ภาค
    1. เพื่อทรงรับทราบขอบขีดความสามารถของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแต่ละแห่งว่าสามารถให้บริการสาธารณสุขถึงขอบขีดความสามารถที่กำหนดหรือไม่ และเพื่อที่จะได้นำมาพิจารณาเสริมขีดความสามารถให้ถึงระดับมาตรฐาน โดยมิใช่เป็นการก้าวก่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ
    2. เพื่อทรงรับทราบปัญหาข้อขัดข้อง และความต้องการสิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์สูงโดยเฉพาะควรเหมาะสมกับระดับขีดความสามารถของบุคลากรในแต่ละท้องถิ่น
    3. เพื่อพระราชทานพระราชดำริในการแก้ปัญหาประสิทธิภาพของบุคลากรและความเหมาะสมกับการรักษาพยาบาลของแต่ละท้องถิ่น
  2. มีพระราชดำริที่จะสนับสนุนพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ให้มีขีดความสามารถตามมาตรฐานของโรงพยาบาลแต่ละขนาดเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่โรงพยาบาลชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
  3. การพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำเป็นจะต้องเน้นหนักในการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการควบคุมกำกับการและการประเมินผลงานหากการบริหารจัดการไม่ดีถึงแม้ว่าจะทุ่มเททรัพยากรลงไปมากเท่าใดก็ตาม ผลงานที่ออกมาก็จะไม่ดีเท่าที่ควร หรืออีกนัยหนึ่งจัดสรรทรัพยากรในจำนวนที่เท่ากันโรงพยาบาลที่มีการบริหารจัดการดีกว่าจะมีผลงานมากกว่า
  4. ในการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำเป็นที่จะต้องเชิญชวนภาคเอกชนมามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพราะงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขมีจำกัดและมีโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ต้องสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
  5. การพัฒนาบุคลากรทุกประเภทของโรงพยาบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการทำงานให้เหมาะสมกับปัญหาสาธารณสุขของประชาชนทั้งในด้านการบริหารจัดการบริการสาธารณสุขและเทคนิควิชาการต่างๆให้ทันสมัย รวมทั้งปรับตัวของบุคลากรให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของการทำงานและสภาพสังคมของท้องถิ่น
  6. พัฒนาบุคลากร ให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปฎิบัติงาน อาทิเช่น การใช้เครื่องมือแพทย์ หรือดัดแปลงวัสดุในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการรักษาพยาบาล เป็นต้น
  7. ในการดำเนินงานของโรงพยาบาล จำเป็นต้องสร้างสรรมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันทุกระดับทุกรูปแบบ และจัดให้มีประชาสัมพันธ์โดยสื่อมวลชนและเครื่องมือประชาสัมพันธ์อื่น ๆ
  8. โรงพยาบาลควรเน้นหนักในเรื่องความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดี
  9. มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งใต้ฝ่าละอองพระบาททรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ นับว่าเป็นองค์กรที่สามารถจะสนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้สมควรที่จะปรับปรุงให้มีบทบาทมากขึ้นไป
  10. สมควรจัดให้มีการประชุมพบปะปรึกษาหารือกันระหว่างคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในกองงานในพระองค์ฯ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกัน แก้ปัญหาร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือประสานงานที่ดีต่อไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
  11. ควรสร้างสิ่งจูงใจ ขวัญ กำลัง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่ง ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นตามลำดับโดยจัดให้มีการประกวดโรงพยาบาลดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยให้มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับพระราชทานรางวัลจากใต้ฝ่าละอองพระบาท
  12. ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัยระบบงานสาธารณสุขทั้งด้านบริการ วิชาการ และบริหารเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพของระบบงานดังกล่าว ให้ดีและเหมาะสมยิ่งขึ้นตามลำดับ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว เมื่อวันที่ 19  สิงหาคม 2520 และ
เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาล ทรงตัดแถบแพร และทรงพระสุหร่าย ศิลาจารึกภายในอาคาร โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว

เมื่อวันที่  27 มีนาคม  2522

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล
สมเด็จพระยุพราชปัว  เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2537 (ซ้าย)

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
เสด็จทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมด็จพระยุพราชปัว
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 (ขวา)

รายชื่อของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง

  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช หล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เดชอุดม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระนวน อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กุฉินารายณ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เลิงนกทา อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช บ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ฉวาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สายบุรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา